คำสั่งคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค

1. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2527 เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า "ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ" หรือ "ตัวดูดน้ำ"
2. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 06/2529 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรงหรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย
3. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 3/2535 เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า "ลูกโป่งวิทยาศาสตร์" หรือ "ลูกโป่งพลาสติก"
4. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2546 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรงเป็นการชั่วคราว
5. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2548 เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า "ลูกโป่งวิทยาศาสตร์" หรือ "ลูกโป่งพลาสติก" หรือ "Blowing balloon"
6. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2549 เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการชั่วคราว
7. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 4/2550 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรง ห้ามขายเครื่องเล่นฉีดน้ำ
8. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2550 เรื่อง ห้ามขายสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคเป็นการชั่วคราว
9. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 10/2550 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำเป็นการชั่วคราว
10. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 11/2550 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นล่องแก่ง ชื่อ "อินเดียน่าล็อก" (Indiana Log) ในสวนสยามเป็นการชั่วคราว
11. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 13/2550 เรื่อง ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นการชั่วคราว
12. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 14/2551 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำ หรือท่อส่งน้ำ
13. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 15/2551 เรื่อง ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ
14. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 10/2552 เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่น

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๑๕/๒๕๕๑
เรื่อง ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ
        ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกคำสั่งที่ ๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ เนื่องจากมีเหตุน่าเชื่อว่าสินค้าดังกล่าวอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ให้ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวนั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ แล้ว มีความเห็นว่า มีเหตุอันน่าเชื่อว่าสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และเป็นกรณีไม่อาจป้องกันอันตรายที่เกิดจากสินค้านั้นได้ โดยการกำหนดฉลากตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือตามกฎหมายอื่น จึงมีมติให้มีคำสั่งห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นการถาวร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
    ข้อ ๑  ให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๑๓/๒๕๕๐ เรื่อง ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นการชั่วคราว
     ข้อ ๒  ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ
     ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ชูศักดิ์  ศิรินิล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
 
      คำเตือน :- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้น อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๒๑ มกราคม ๒๕๕๒
 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนพิเศษ ๗ ง/หน้า ๔๖/๑๖ มกราคม ๒๕๕๒
 

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๑๔/๒๕๕๑
เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำ
       ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกคำสั่งที่ ๑๐/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำเนื่องจากมีเหตุน่าเชื่อว่าสินค้าดังกล่าวอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ให้ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวนั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ แล้ว มีความเห็นว่า มีเหตุอันน่าเชื่อว่าสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำเป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และเป็นกรณีไม่อาจป้องกันอันตรายที่เกิดจากสินค้านั้นได้ โดยการกำหนดฉลากตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือตามกฎหมายอื่น จึงมีมติให้มีคำสั่งห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำเป็นการถาวร
       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๑๐/๒๕๕๐ เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำเป็นการชั่วคราว
       ข้อ ๒ ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำ
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ชูศักดิ์ ศิรินิล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

       คำเตือน :- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้น อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๒๑ มกราคม ๒๕๕๒
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนพิเศษ ๗ ง/หน้า ๔๓/๑๖ มกราคม ๒๕๕๒

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๑๑/๒๕๕๐
เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นล่องแก่ง ชื่อ “อินเดียน่า ล็อก” (Indiana Log) ในสวนสยามเป็นการชั่วคราว
       ด้วยปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๐ มีผู้บริโภคได้ไปใช้บริการเครื่องเล่นล่องแก่งชื่อ “อินเดียน่า ล็อก” (Indiana Log) ในสวนสยามแล้วได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเครื่องเล่นดังกล่าว โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้บริการนั้น
       คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า มีเหตุอันน่าเชื่อว่าสินค้าเครื่องเล่นล่องแก่ง ชื่อ “อินเดียน่า ล็อก” (Indiana Log) ในสวนสยามเป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะป้องกันอันตรายและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าชนิดนี้ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
      (๑) ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นล่องแก่ง ชื่อ “อินเดียน่า ล็อก” (Indiana Log) ในสวนสยามเป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีคำสั่งยกเลิก ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อหรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าว
      (๒) ให้ผู้ประกอบธุรกิจทำ การติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด เพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าดังกล่าวว่าสินค้านั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ โดยให้ดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ให้สามารถรู้ผลได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
      ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑]

สั่ง ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ทิพาวดี เมฆสวรรค์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

      คำเตือน :- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ
๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๑๖๓ ง/หน้า ๔๑/๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๙/๒๕๕๐
เรื่อง ห้ามขายสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคเป็นการชั่วคราว
         ด้วยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พบว่า สารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคที่สถานพยาบาลนำมาฉีดเข้าส่วนต่างๆ ของร่างกายให้กับบุคคลทั่วไปนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ และมีประชาชนได้รับความเสียหายจากการใช้สารดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นมักเป็นความเสียหายอย่างถาวรซึ่งแก้ไขได้ยากและในบางกรณีไม่สามารถแก้ไขได้ โดยสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคที่ผลิตใช้ฉีดหรือนำเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้คนไข้เป็นการผลิตวัสดุขึ้นเองและเป็นวิธีที่ไม่เคยผ่านกระบวนการวิจัยอย่างถูกขั้นตอนตามหลักวิชาการทางการแพทย์ เป็นวิธีที่ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในประเทศไทยและสารดัดแปลงนั้น ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่คนในระยะยาวและยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
          คณะกรรมการบริหารสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยได้มีมติขอให้แพทย์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ระงับการฉีดสารเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยด้วยวิธีไบโอเทคนิค รวมทั้งระงับการแนะนำให้แพทย์อื่นฉีดให้คนไข้ไว้ก่อนจนกว่าจะมีหลักฐานหรือข้อมูลใหม่ที่ทำให้พิสูจน์ได้ว่าจะไม่ทำอันตรายและความเสียหายให้แก่คนไข้ และสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยพบว่าจากการสอบถามแพทย์ที่เป็นสมาชิกเพียง ๙ คน มีสถิติคนไข้จำนวนมากรวม ๗๙ คน มีปัญหาจากการได้รับการฉีดสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิค นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยก็ได้มีมติว่าวิธีไบโอเทคนิคเป็นวิธีที่ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในประเทศไทย และทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรม เมื่อมีการนำวิธีการนี้ไปดำเนินการโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจัยอย่างถูกขั้นตอนที่กำหนดขึ้นโดยแพทย์สภา
          คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๐ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ และครั้งที่ ๖/๒๕๕๐ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔     ตุลาคม ๒๕๕๐ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่าสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคเป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และมีความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องป้องกันอันตรายและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าชนิดนี้ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอำนาจตาม          บทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
๑. ห้ามขายสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคเป็นการชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีคำสั่งยกเลิก ทั้งนี้ ให้รวมถึงการจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าวด้วย
๒. ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิคทำการติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุดเพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าดังกล่าวว่าสินค้านั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้โดยให้ดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ให้สามารถรู้ผลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑]

สั่ง ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ทิพาวดี เมฆสวรรค์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

          คำเตือน :- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ บัญญัติว่า ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๑๕๗ ง/หน้า ๒๗/๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๐

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๔/๒๕๕๐
เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรง
         ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๖ ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรงเนื่องจากมีเหตุน่าเชื่อว่าสินค้าดังกล่าวอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ให้ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวนั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค นั้น ต่อมาได้มีการดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์โดยผู้ประกอบธุรกิจและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ปรากฏว่าสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นว่ากรณีไม่อาจป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากสินค้านั้นได้โดยการกำหนดฉลากตามมาตรา ๓๐ หรือตามกฎหมายอื่น
         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้
         ข้อ ๑ ให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๑/๒๕๔๖ เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรงเป็นการชั่วคราว
         ข้อ ๒ ห้ามขายสินค้าเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรง
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑]

สั่ง ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ทิพาวดี เมฆสวรรค์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

โสรศ/ผู้จัดทำ
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๐
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๙๔ ง/หน้า ๔๑/๘ สิงหาคม ๒๕๕๐

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๑/๒๕๔๙
เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการชั่วคราว
         โดยที่ในปัจจุบันได้มีการขายสินค้าที่มีลักษณะเป็นลวดสเตนเลสใส่ลูกปัดสีหรือพลาสติกและสินค้าที่มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกติดลวดดัดฟันไว้ด้านหน้า ซึ่งเด็กวัยรุ่นนำมาใส่ในช่องปากตามแบบสมัยนิยม โดยเรียกกันว่า “ลวดดัดฟันแฟชั่น” สำนักงานเลขาธิการทันตแพทย์สภา กรมอนามัยและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แจ้งว่า สินค้าดังกล่าวมีสารปนเปื้อนซึ่งเป็นโลหะหนักหลายชนิด และไม่มีอุปกรณ์ยึดเกาะที่แข็งแรงเพียงพออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพช่องปากของผู้บริโภค หรืออาจหลุดลงคอเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ส่งตัวอย่างสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นไปทำการทดสอบเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมอนามัย และสำนักงานเลขาธิการทันตแพทย์สภา ผลปรากฏว่า มีการตรวจพบสารปนเปื้อนซึ่งเป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียมและสารหนู เป็นต้น วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุที่ไม่มีมาตรฐาน ลักษณะการนำมาคล้องที่ฟันด้วยลวดที่ไม่แข็งแรง มีโอกาสหลุดลงคอ ทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต การดัดฟันที่ถูกต้องจะต้องกระทำโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการใส่ลวดดัดฟันโดยไม่มีการดูแลรักษาที่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียด้านสุขอนามัยของฟันหรืออวัยวะในช่องปาก
          คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๙ แล้ว เห็นว่า มีเหตุอันน่าเชื่อว่าสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นดังกล่าวอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะป้องกันอันตราย และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าชนิดนี้ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
          (๑) ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีคำสั่งยกเลิก
          (๒) ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายลวดดัดฟันแฟชั่น ทำการติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด เพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าดังกล่าวว่าสินค้านั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ โดยให้ดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ให้สามารถรู้ผลได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สั่ง ณ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙
สุชัย เจริญรัตนกุล
รองนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค


          คำเตือน :- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


นันทนา/ผู้จัดทำ
๖ มีนาคม ๒๕๔๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนพิเศษ ๓๓ ง/หน้า ๑๗/๓ มีนาคม ๒๕๔๙

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๙/๒๕๔๘
เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก”หรือ “Blowing balloon”
         ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาเห็นว่า สินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๓/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ห้ามขายสินค้าดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกและให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายซึ่งสินค้าดังกล่าวติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด เพื่อการดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าดังกล่าวนั้นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค โดยให้ดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ให้สามารถรู้ผลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั้น
          สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ได้มีคำ สั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๓/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ยังไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้ส่งตัวอย่างสินค้าที่ตรวจพบไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ส่วนประกอบของสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผลการตรวจวิเคราะห์ พบสารเอทิลอาซีเทต ซึ่งจัดเป็นสารระเหยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือ ขนาดบรรจุของสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์เป็นสารระเหย ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ และตามประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้ลูกโป่งวิทยาศาสตร์หรือลูกโป่งพลาสติก (Blowing balloon) เป็นสารระเหยซึ่งสารระเหยจัดว่าเป็นยาเสพติดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ การสูดดมสารระเหยทำให้เกิดอันตรายต่อระบบต่างๆ ในร่างกายจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ประกอบกับลักษณะการเล่นของเด็กเล็ก ในขณะที่เป่าสินค้าดังกล่าวให้เป็นลูกโป่ง ต้องมีการสูดลมหายใจเข้าออกหลายครั้งทำให้เด็กเล็กต้องสูดดมสารระเหยซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
           คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ แล้ว มีความเห็นว่า สินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” เป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์เป็นสารระเหย ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ ได้กำหนดให้ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ หรือลูกโป่งพลาสติก (Blowing balloon) เป็นสารระเหย ซึ่งได้มีการควบคุมเกี่ยวกับการจำหน่าย ประกอบกับสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของเล่นที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเด็กเล็ก จึงมีมติว่า สมควรมีคำสั่งห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” เป็นการถาวร
           ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
            ๑. ให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๓/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” เป็นการชั่วคราว
            ๒. ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” หรือ “ลูกโป่งพลาสติก” หรือ “Blowing balloon” เป็นการถาวร
            ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑]

สั่ง ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
สุชัย เจริญรัตนกุล
รองนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค


พชร/ผู้จัดทำ
๑๙ มกราคม ๒๕๔๙
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนพิเศษ ๓ ง/หน้า ๘/๑๐ มกราคม ๒๕๔๙

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๑๐/๒๕๓๙
เรื่อง ยกเลิกการห้ามขายสีเทียนยี่ห้อ NA KAK SUA
         ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกคำสั่งห้ามขายสีเทียนยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B และยี่ห้อ NA KAK SUA เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่ง ที่ ๒/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๗ โดยเห็นว่าสีเทียนดังกล่าวมีปริมาณของโลหะตะกั่ว และโลหะโครเมี่ยมเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสีเทียน ยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B และยี่ห้อ NA KAK SUA ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าสีเทียนดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค นั้น
         บัดนี้ ผู้ผลิตสีเทียนยี่ห้อ NA KAK SUA ได้ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สีเทียนยี่ห้อ NA KAK SUA NON TOXIC ซึ่งปรับปรุงจากสีเทียนยี่ห้อ NA KAK SUA แล้ว ผลปรากฏว่าสีเทียนดังกล่าวมีปริมาณโลหะตะกั่วและโลหะโครเมี่ยมไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียน ฉะนั้น จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าสีเทียนยี่ห้อ NA KAK SUA ที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่เป็นยี่ห้อ NA KAK SUA NON TOXIC นี้ จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป
          อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๙ จึงมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๒/๒๕๓๗ เรื่อง ห้ามขายสีเทียนยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B. และยี่ห้อ NA KAK SUA เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๗ โดยให้ยกเลิกการห้ามขายสีเทียนเฉพาะยี่ห้อ NA KAK SUA ที่ผลิตตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับเป็นต้นไป เสีย
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑]

สั่ง ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙
สมัคร สุนทรเวช
รองนายกรัฐมนตรี
สั่งและปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี
ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค


อัมภิญา/พิมพ์
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
รัศม์วรรณวลัย/ตรวจ
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๙๖ ง/หน้า ๑๒๐/๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๒/๒๕๓๗
เรื่อง ห้ามขายสีเทียนยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B. และยี่ห้อ NA KAK SUA เป็นการชั่วคราว
         ด้วยปรากฏข่าวสีเทียนที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปในปัจจุบัน อาจมีปริมาณของสารที่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเจือปนอยู่ในเนื้อของสีเทียน โดยเฉพาะสารตะกั่วหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอาจมีผลทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารได้ ฉะนั้น เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภคจึงทำการเก็บตัวอย่างสีเทียน รวม ๑๙ ยี่ห้อ จำนวน ๓๖ กล่อง นำส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่วและสารอื่นที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสีเทียนดังกล่าวตามหนังสือ ที่ สธ ๐๕๐๖/๑๓๐๕ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๗ สรุปได้ว่า สีเทียน ๔ ยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B. และยี่ห้อ NA KAK SUA มีปริมาณของโลหะตะกั่วและโลหะโครเมี่ยมเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียน (มอก. ๑๑๔๙-๒๕๓๖)
         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาในเบื้องต้นเห็นว่า แม้ว่าจะไม่ได้มีการกำหนดให้สินค้าสีเทียนต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียน (มอก. ๑๑๔๙-๒๕๓๖) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ตาม แต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียนดังกล่าวเป็นการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของสินค้าสีเทียนเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยกำหนดว่าสีเทียนต้องไม่มีสารพิษในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพและกำหนดปริมาณของโลหะหนักที่อาจเจือปนได้ในเนื้อของสีเทียน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณารายงานการตรวจวิเคราะห์สีเทียนทั้ง ๑๙ ยี่ห้อ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว เห็นว่าสีเทียน ยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B. และยี่ห้อ NA KAK SUA มีปริมาณของโลหะตะกั่วและโลหะโครเมี่ยมเกินเกณฑ์มาตรฐานที่จะปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ฉะนั้น จึงมีเหตุที่น่าเชื่อว่าสินค้าสีเทียน ๔ ยี่ห้อดังกล่าวอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวโดยมากมักจะเป็นเด็กเล็กในวัยเรียน จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนที่ควรสั่งห้ามขายสินค้าสีเทียนนั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าสีเทียน ๔ ยี่ห้อดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๖ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๗ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
         ๑. ห้ามขายสีเทียนยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B. และยี่ห้อ NA KAK SUA เป็นการชั่วคราว
         ๒. ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสีเทียนยี่ห้อ LOVE GUITAR ยี่ห้อ funPax ยี่ห้อ P.P.B. และยี่ห้อ NA KAK SUA ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าสีเทียนดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑]

สั่ง ณ วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
บัญญัติ บรรทัดฐาน
รองนายกรัฐมนตรี
สั่งและปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี
ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

         คำเตือน:พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         ถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สรัลพร/พิมพ์
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
รัศม์วรรณวลัย/ตรวจ
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนพิเศษ ๓๖ ง/หน้า ๒๑/๑ กันยายน ๒๕๓๗

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๐๖/๒๕๒๙
เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อยโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรง
หรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย
         ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้พิจารณาเห็นว่าสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรง หรือ เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้ส่งสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าดังกล่าวไปให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทำการตรวจสอบแล้วเห็นว่าอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายจากสาเหตุของกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย ถ้าผู้ใช้บังเอิญเปิดฝาระหว่างการใช้งานและเสียบปลั๊กเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าไว้ หากถือจับวัตถุสื่อไฟฟ้าสัมผัสกับน้ำที่ต้ม เช่น ตักหรือคน หรือเทน้ำจากภาชนะโลหะลงไปในถ้วยหรือน้ำที่กำลังต้มนั้น กระแสไฟฟ้าจะวิ่งเช้าสู่ร่างกายและเป็นอันตรายทันที
         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๒/๒๕๒๙ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่งหรือนำเช้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขายซึ่งสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรงทำการติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าดังกล่าวว่าสินค้านั้นเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคหรือไม่ ถ้าเป็นอันตรายจะเป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด และจะมีวิธีป้องกันอย่างใดหรือไม่ ทั้งนี้โดยให้ดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ให้สามารถรู้ผลได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศคำสั่ง และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศคำสั่งดังกล่าวนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๙ พร้อมกันนั้นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ส่งสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขายซึ่งสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรง ดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าดังกล่าว ภายในกำหนดระยะเวลาหกสิบวัน ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๒/๒๕๒๙ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๙ และถึงแม้ว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะได้ขยายระยะเวลาแจ้งการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าออกไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวก็มิได้แจ้งผลการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าให้ทราบแต่อย่างใด
         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๓/๖๙-๘/๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๙ แล้ว เห็นว่าจากผลการตรวจวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงว่าสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรงหรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย เป็นสินค้าที่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคจากสาเหตุของกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย แม้ว่าจะมีฉลากกำกับสินค้าวิธีใช้ไว้แล้วก็ตาม ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงมีมติให้ออกคำสั่งห้ามขายสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรง หรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย
          ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีคำสั่งห้ามขายสินค้าเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรงหรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป๑

สั่ง ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๙
ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สั่งและปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค


รัศม์วรรณวลัย/ตรวจ
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๓๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๒/๑ สิงหาคม ๒๕๒๙

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ๙/๒๕๒๗
เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ”หรือ “ตัวดูดน้ำ”
         ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาเห็นว่า สินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เด็กได้ จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกคำสั่งที่ ๑/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ ห้ามขายสินค้าดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก และให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขายผลิต สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค
         ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าดังกล่าวได้ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจวิเคราะห์เพื่อทดสอบพิสูจน์สินค้า ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ปรากฏตามรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แจ้งตามหนังสือที่ สธ ๐๕๐๕/๗๑ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๗ สรุปได้ว่า สินค้าดังกล่าวสามารถพองตัวได้ในน้ำย่อยเทียม (ที่มีสภาพเช่นเดียวกับน้ำย่อยในกระเพาะและลำไส้ของมนุษย์) โดยสามารถพองตัวได้ภายในระยะเวลาตามสภาพการย่อยในร่างกายมนุษย์ได้ถึง ๕ เท่า และยังคงมีลักษณะเหนียว ไม่แยกหรือแตกร่วน ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า สินค้าดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการย่อยตัว หากกลืนกินเข้าไป เป็นการผิดปกติต่อระบบการย่อยและการขับถ่าย ทำให้ลำไส้อุดตันได้ และในรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ได้แสดงความเห็นไว้ด้วยว่า ของเล่นนี้ไม่น่าไว้วางใจในความปลอดภัย อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ สมควรวางมาตรการป้องกัน
         และดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่อาจนำทดสอบพิสูจน์เพื่อแสดงให้เห็นว่า สินค้าไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้ประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในความครอบครองภายใน ๑๕ วัน โดยได้ให้โอกาสแก่ผู้ประกอบธุรกิจในอันที่จะเสนอหลักฐานและวิธีการต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสินค้า เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจแจ้งปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในความครอบครองจำนวน ๓๔ ราย รวม ๑๒๖,๓๐๐ ตัว พร้อมทั้งได้เสนอมาตรการป้องกันอันตรายโดยวิธีการให้กำหนดสินค้าควบคุมฉลาก และได้กล่าวอ้างว่า สินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” นี้ มีจำหน่ายแพร่หลายในต่างประเทศหลายประเทศ ก็ได้ใช้วิธีกำหนดให้มีฉลากกำกับสินค้าเช่นกัน
          คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๔๙-๘/๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๗ แล้วมีความเห็นว่า สินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” เป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะแก่เด็กเล็ก แม้ในต่างประเทศหลายประเทศ จะยอมให้มีการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวโดยมีฉลากกำกับได้ก็ตาม แต่ตามสภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน การให้ความสนใจหรือความสำคัญแก่ฉลากกำกับสินค้าของผู้บริโภคยังมีน้อย ดังนั้น แม้ว่าจะกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากและกำหนดให้ฉลากแสดงคำเตือนวิธีใช้ และวัตถุประสงค์ของสินค้าอย่างถูกต้องเพียงพอ ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้านี้เป็นสินค้าประเภทของเด็กเล่น ผู้ใช้สินค้าเป็นแต่เพียงแต่ผู้บริโภคที่เป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งไม่เข้าใจความหมายของฉลาก ประกอบกับปริมาณสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งจำนวนมามีเพียง ๑๒๖,๓๐๐ ตัว ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มาก ไม่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นและไม่ใช่ของเล่นที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่เด็ก จึงมีมติว่า สมควรมีคำสั่งห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” เป็นการถาวร
          ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
          ๑. ให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ๑/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” เป็นการชั่วคราว
         ๒. ห้ามขายสินค้าที่เรียกกันว่า “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ”
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป๑

สั่ง ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๗
ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม
รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี
สั่งและปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค


รัศม์วรรณวลัย/ตรวจ
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๗๖/หน้า ๔๘๑๒/๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

Visitors: 81,579