ทนายความคดีล้มละลาย

        ทนายยิ้มพร้อมให้คำปรึกษาในการบริหารธุรกิจก่อนขาดสภาพคล่องหรือขณะล้มละลายแล้ว และในระหว่างฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนรับว่าความทั่วไทยด้วย.

คดีล้มละลาย หากต่อสู้คดีต้องมีทนายความ
ปรึกษาทนายความ เมื่อถูกฟ้องล้มละลาย
ขอคำแนะนำเรื่องคดีล้มละลาย
ปรึกษาคดีล้มละลาย 083-144-8765


  • กองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย
  • การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
  • การฟ้องขอให้ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ อำนาจฟ้อง การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้
  • ขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกัน/ เจ้าหนี้มีประกัน
  • คำฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลายไม่ชอบ
  • คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
  • จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง
  • เจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย
  • เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์
  • นำมูลหนี้เดิมมาฟ้องล้มละลายใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
  • ผลของการประนอมหนี้
  • ผลของการปลดจากล้มล้มละลาย / หนี้สินก่อนล้มละลาย
  • มิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น
  • ลูกหนี้ไม่หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวง
  • ลูกหนี้โอนทรัพย์สิน / ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น
  • สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน
  • หน้าที่เสียภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาด หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้

 

 1. กองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย

     สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่มีต่อลูกหนี้ในคดีล้มละลาย
     เรื่อง กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการแทน ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อที่ดิน ผู้เช่าซื้อ(ผู้ร้อง) ครบกำหนดชำระค่าเช่าซื้อที่ดินงวดสุดท้าย แต่ลูกหนี้(ผู้ให้เช่าซื้อ) ไม่สามารถโอนที่ดินได้ตามสัญญาเนื่องจากที่ดินติดจำนองกับเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แทนลูกหนี้ มีหน้าที่โอนที่ดินให้แก่ผู้เช่าซื้อ(ผู้ร้อง)

2. การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

    เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ในขณะที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลายในคดีที่เจ้าหนี้อื่นฟ้องอยู่ และในคดีนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในสองเดือนนับแต่วันประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ปัญหาว่าเจ้าหนี้รายใหม่ไม่ทราบว่าลูกหนี้ของตนถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์และอาจจะทราบประกาศโฆษณาคำสั่งและจะทำอย่างไรจึงจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ในเรื่องนี้ขอให้พิจารณาบทบัญญัติต่อไปนี้ "มาตรา 93 ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 9 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด" แล้วคำว่า"นับจากวันคดีถึงที่สุด" นั้นมีความหมายว่าอย่างไร อธิบายได้ว่า เมื่อลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดีแพ่ง เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้ามาว่าความแทนลูกหนี้ในคดีแพ่งนั้นและถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้รายใหม่ในคดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีดังกล่าวจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของลูกหนี้ได้เมื่อคดีแพ่งถึงที่สุด แม้จะล่วงเลยเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม

3. การปฏิบัติงานบังคับคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

    กรณีลูกหนี้ถูกฟ้องบังคับจำนอง หรือบังคับตามสิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน ในกรณีที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่เห็นชอบให้ดำเนินการที่จะบังคับเอากับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของเจ้าหนี้มีประกันที่ยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 95ประกอบกับคำสั่งกรมบังคับคดี ที่ 84/2554 เรื่อง การปฏิบัติงานบังคับคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรณีถูกฟ้องบังคับจำนอง

4. การฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

    การฟ้องคดีล้มละลาย โจทก์อาจอ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามความเป็นจริง หรือตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายก็ได้ ในกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย โจทก์ก็มีหน้าที่เพียงนำสืบให้ต้องด้วยข้อสันนิษฐาน ถ้าโจทก์สืบไม่ได้ ก็ถือไม่ได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ศาลก็ต้องยกฟ้อง แต่ถ้าโจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายและตามความเป็นจริงด้วย แม้โจทก์สืบไม่เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ก็ต้องดูว่าโจทก์สืบได้หรือไม่ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามความเป็นจริงหรือไม่ด้วย หากสืบได้และประกอบหลักเกณฑ์อื่นตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็กขาด

 

 5. ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย

     การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ซึ่งจำนองเป็นหลักประกันแม้เป็นการปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์หรือเจ้าหนี้อื่นจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขาย

 

 6. คำฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลายไม่ชอบ

     ในการฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น ลูกหนี้บุคคลธรรมดาต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้นิติบุคคลต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท จำนวนหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องต้องเป็นจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้นำราคาทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันมาหักกับจำนวนหนี้ของตนเสียก่อน เมื่อหักแล้วยังคงมีหนี้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และ 2 ล้านบาท ตามลำดับแล้ว เจ้าหนี้จึงจะนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้ แต่การที่เจ้าหนี้ตีราคาทรัพย์หลักประกันเฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียวโดยไม่ตีราคาสิ่งปลูกสร้างด้วยนั้นเป็นการปกปิดราคาทรัพย์ และจำเลยก็ยังประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีรายได้ที่จะมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ กรณีเช่นนี้ยังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

 7. คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

     ในกรณีที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว จึงมีผลทำให้ลูกหนี้ตามคำสั่งศาลหลุดพ้นจากการฟื้นฟูกิจการและเข้าสู่สภาวะการดำเนินธุรกิจตามปกติ ดังนั้นการที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลในเรื่องที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้ร้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารแผนของลูกหนี้จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวอีกต่อไป ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา

 8. จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง

     หนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นก่อนที่ลูกหนี้จะถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนมีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้เอาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อจำเลยได้รับการปลดจากล้มละลายแล้ว ย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะนำหนี้ก่อนล้มละลายมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายอีกไม่ได้ ให้ยกฟ้อง

 9. เจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย

     เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น ในการตรวจดูทรัพย์สินเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่จำต้องยึดทรัพย์และขายทอดตลาดให้แก่เจ้าหนี้เสมอไป แต่หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจดูทรัพย์สินแล้วเห็นว่าทรัพย์นั้นมีราคามากกว่าจำนวนหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดและนำราคาส่วนที่เหลือซึ่งเกินจากจำนวนหนี้มารวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้

10. เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์

      ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์เจ้าหนี้ชนะคดีจำเลยลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้บังคับคดียึดทรัพย์ ต่อมาเจ้าหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้เด็ดขาด ลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายอ้างว่าเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อไปเนื่องจากมีการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ศาลสั่งคำร้องว่าการที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิบังคับคดีได้หรือไม่นั้น ย่อมเป็นอำนาจของศาลในคดีแพ่งไม่ใช่ศาลล้มละลาย

11. นำมูลหนี้เดิมมาฟ้องล้มละลายใหม่ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

      หนี้จำนวนเดียวกันเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะนำมาฟ้องให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้หรือไม่ การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้มาฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าลูกหนี้นำสืบได้ว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จึงไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ต่อมาลูกหนี้ได้จำหน่ายทรัพย์ดังกล่าวไปแล้ว และเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้เดิมมาฟ้องลูกหนี้หรือจำเลยเป็นคดีล้มละลายอีกครั้ง กรณีเช่นนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะเจ้าหนี้อ้างเหตุว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553

12. ผลของการประนอมหนี้

      เมื่อมีการประนอมหนี้แล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ไว้แล้วและเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ด้วย เจ้าหนี้จะมาฟ้องให้ลูกหนี้รับผิดอีกไม่ได้ ต่อภายหลังลูกหนี้ได้ทำหนังสือยอมชำระหนี้นั้นด้วยความสมัครใจมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับเจ้าหนี้ ย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นเอกสารรับสภาพหนี้ เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายโดยเจ้าหนี้รายใหม่เป็นอีกคดีหนึ่ง เจ้าหนี้รายนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จากมูลหนี้ตามหนังสือยอมชำระหนี้นั้นได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 805/2552

13. ผลของการปลดจากล้มละลายกับหนี้สินที่ได้เกิดขึ้นก่อนในคดีล้มละลาย

      โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้อื่นได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นไปย่อมมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายดังกล่าวไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5369/2549

14. ฟ้องลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ให้ส่งมอบรถยนต์

      การฟ้องขอให้ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน แต่การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่น เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 26

15. มิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นในคดีล้มละลาย

      ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวัน ในระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย และภายหลังนั้นลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีและเบิกถอนออกจากบัญชีไป ปัญหามีว่าการกระทำของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ในระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้สามารถนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชีและเบิกถอนต่อไปได้อันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีจึงมีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ซึ่งกระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นกันไปเลย และเจ้าหนี้ไม่ทราบมาก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากเจ้าหนี้ได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น การกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น แม้ได้กระทำในระยะเวลา 3 เดือนก่อนและหลังฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม

16. ลูกหนี้ไม่หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวง

      เมื่อศาลเห็นว่าลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มล้มละลาย ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ คำสั่งยกเลิกการล้มละลายดังกล่าวไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สิน หากมีเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว ก็มีสิทธินำมูลหนี้ของตนมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้ลูกหนี้ไม่หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวง
เมื่อศาลเห็นว่าลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มล้มละลาย ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ คำสั่งยกเลิกการล้มละลายดังกล่าวไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สิน หากมีเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว ก็มีสิทธินำมูลหนี้ของตนมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้

17. ลูกหนี้โอนทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นในคดีล้มละลาย

      ลูกหนี้ทำสัญญาให้สิทธิเจ้าหนี้เบิกถอนเงินในบัญชีฝากประจำของตน เพื่อเป็นประกันหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีก่อนที่จะถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด และต่อมาลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ยังมีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้จากเงินในบัญชีฝากประจำได้ ถือว่าไม่เป็นการได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นในคดีล้มละลาย

18. สั่งจ่ายเช็คหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ผลเป็นอย่างไร

      การออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมและหนี้นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว กรณีเช่นนี้จะมีผลต่อมูลหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ออกเช็คอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่ลูกหนี้ออกเช็คโดยไม่ได้กระทำการตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มูลหนี้เงินกู้ตามเช็คย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การออกเช็คจึงไม่มีความผิดทางอาญา

19. สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน

       เจ้าหนี้มีประกัน มีสิทธิได้รับชำระหนี้ 2 วิธี คือ วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย และวิธีที่สอง เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2544

20. สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในคดีล้มละลาย

       เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 ต้องขอรับชำระหนี้ทั้งหมดของตนที่มีทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2535

21. หน้าที่เสียภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาด

       การขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายที่มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการแทนจำเลยนั้น เมื่อมีผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดผู้ใดจะเป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ กล่าวคือ “จำเลย” นั้นเอง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดทรัพย์และข้อตกลงในหนังสือสัญญาซื้อขายให้ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้ชำระค่าภาษีต่างๆ แล้วนำใบเสร็จรับเงินมาขอรับเงินคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือโอนกรรมสิทธิ์หรือภายใน 20 วัน นับแต่ชำระราคาครบถ้วน หากไม่มาขอคืนภายในกำหนดดังกล่าวถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ติดใจขอรับเงินดังกล่าวคืนนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวกฎหมายไม่รับรองให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถทำได้ เมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำต้องกันเงินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ไว้เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มาขอคืน หากผู้ซื้อทรัพย์ไม่มาขอเงินภาษีคืนภายใน 5 ปี ก็ให้ตกแก่แผ่นดิน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2553

22. หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้

      คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้นั้น มีความหมายว่า “เมื่อบุคคลล้มละลายคนใดได้รับการปลดจากล้มละลายแล้ว บุคคลนั้นย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้” แต่เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน แม้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้วก็ไม่หลุดพ้นจากหนี้จำนอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2552

Visitors: 81,363