ทนายความคดีอาญา

       กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่รวมเอาลักษณะความผิดต่างๆ และกำหนดบทลงโทษขึ้นด้วย ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม การกระทำที่มีผล กระทบกระเทือนต่อสังคม หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา หากปล่อยให้มีการแก้แค้นกันเอง หรือปล่อยให้ผู้กระทำผิดแล้วไม่มีการลงโทษ จะทำให้มีการกระทำความผิดทางอาญามากขึ้น สังคมก็จะขาดความสงบสุข

       ความรับผิดในทางอาญาหรือการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งจะเกิดผลร้ายทำให้ถูกลงโทษ นอกจากจะต้องเป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดแล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องกระทำโดยเจตนาด้วย ยกเว้นการกระทำบางชนิดที่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า แม้กระทำโดยไม่เจตนาหรือกระทำโดยประมาทก็ต้องรับผิด
       เจตนา คือ การกระทำผิดทางอาญาที่ผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความผิด แล้วยังทำ
ลงไปทั้ง ๆ ที่รู้สำนึกในการที่กระทำ
       ประมาท คือ การกระทำที่ผู้กระทำมิได้ตั้งใจให้เกิดผลร้ายแก่ใคร แต่เนื่องจากกระทำโดยไม่ระมัด
ระวังหรือระมัดระวังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดผลร้ายแก่ผู้อื่น
       ไม่เจตนา คือ การกระทำที่ผู้กระทำตั้งใจทำเพื่อให้เกิดผลอย่างหนึ่ง แต่ผลเกิดขึ้นมากกว่าที่ตั้งใจไว้
       พยายามกระทำความผิด คือ ผู้กระทำความผิดได้ลงมือกระทำความผิด แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือ
กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล
       ตัวการ คือ กรณีที่ความผิดได้เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำ
ความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ
       ผู้สนับสนุน คือ ผู้ที่กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่น
กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
       ความผิดต่อแผ่นดิน คือ ความผิดในทางอาญาในเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่นอกจากจะมีผลต่อตัวผู้รับ
ผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคมเสียหายอีกด้วย และยอมความไม่ได้
       ความผิดต่อส่วนตัว คือ ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัว
ผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ และแม้จะได้
ดำเนินคดีไปบ้างแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใด ก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง
หรือยอมความได้

ความผิดฐานจราจรทางบก

1. ขับรถด้วยความประมาทจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น


     ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และยังอาจเป็นความผิดฐานไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี หากผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ ให้ตกเป็นของรัฐ
     ในคดีนี้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี และให้ลงโทษจำเลยฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2549

2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี


     จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ความผิดฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายมีโทษหนักสุด จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง แล้วคงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
     พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดว่า “เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท และเจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท” แสดงว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ และไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จะต้องได้ความว่า “ผู้กระทำผิดต้องเป็นเจ้าของรถ” เมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของรถก็ลงโทษไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2549

3. ขับรถโดยประมาท


     ฟ้องจอดรถโดยประมาท ขอให้ลงโทษขับรถโดยประมาทรวมมาด้วยอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
     จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ว่าจอดรถโดยประมาท ศาลล่างทั้งสอง (ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์) ปรับบทลงโทษจำเลยฐานขับรถโดยประมาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) และมาตรา 157 อีกบทหนึ่งมาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8989/2549

4. ชนแล้วหนี


    ในกรณีขับรถชนแล้วหนีมีความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 และมาตรา 160

5. มือใหม่หัดขับ ผู้สอนขับรถยนต์


    กฎหมายกำหนดให้มือใหม่ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถ ต้องมีผู้ฝึกสอนคอยดูแลควบคุมการฝึกหัดขับขี่ และผู้สอนหรือผู้ฝึกหัดนั้นต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี (หรือต้องมีใบขับขี่อายุ 3 ปีขึ้นไปนั่นเอง) นอกจากนี้ในขณะฝึกหัดนั้น ก็ห้ามไม่ให้ผู้อื่นนอกจากผู้หัดขับรถและผู้สอนอยู่ในรถด้วย ไม่เช่นนั้นผู้สอนต้องรับผิดชอบกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไปชนคนและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เว้นแต่ผู้สอนจะพิสูจน์ได้ว่า ผู้สอนได้บอกได้เตือนแล้ว แต่มือใหม่หัดขับไม่เชื่อฟัง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 57 และมาตรา 60

6. ไม่มีใบอนุญาตหือใบขับขี่ มีโทษจำคุก


    โปรดระวัง......ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่หรือใบอนุญาตขับรถ พร้อมทั้งคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (หรือคู่มือจดทะเบียนรถจักยานยนต์) ผู้ใดขับขี่รถยนต์หรือรถจักยานยนต์โดยยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ย่อมมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 และมาตรา 64

7. เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าเมา โทษของเมาแล้วขับหนักเบาอย่างไร


    ประเทศไทยได้กำหนดมาตรการในการตรวจจับผู้ขับขี่ที่เมาสุรา โดยถือเอาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ขับขี่ที่เมาสุรา “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น...ผู้ใดฝ่าฝืน... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท... ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายแก่กาย... โทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 6 ปี ถ้าผู้อื่นถึงแก่ความตาย   จำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี” ในคดีนี้ศาลจำคุก 3 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2554

8. เจ้าของรถให้ผู้อื่นยืมรถไปใช้โดยผู้ยืมรถนั้นไม่มีใบขับขี่


    สำหรับเจ้าของรถให้ผู้อื่นยืมรถไปใช้โดยผู้ยืมรถนั้นไม่มีใบขับขี่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่   อย่างไร กฎหมายห้ามมิให้เจ้าของรถหรือคนขับรถยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถ เข้าขับรถของตนหรือรถที่ตนเป็นคนขับ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 และมาตรา 60

ความผิดอาญาฐานอื่น

1. แจ้งความร้องทุกข์นอกเขตอำนาจสอบสวน ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค


    ความผิดตามฟ้องอยู่ในเขตอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ แต่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต จำเลยมิได้กระทำความผิดหรือถูกจับกุมในท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ทั้งมิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลดุสิตและมิใช่เป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในสถานที่ต่างๆ กัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5734/2550

2. ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม


    หลังจากจำเลยฆ่าผู้ตายแล้ว จำเลยได้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม โดยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงผู้บังคับบัญชาของผู้ตาย การกระทำความผิดฐานดังกล่าวได้กระทำขึ้นหลังจากการตาย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ทำให้บิดาผู้ตายซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายไม่อาจจัดการแทนผู้ตายและเป็นโจทก์ร่วมได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236 - 2237/2550

3. สิทธิแจ้งความร้องทุกข์ของผู้เสียหาย


    ผู้เสียหายให้เงินแก่ผู้หลอกลวงไปโดยหลงเชื่อว่าจะถูกยึดทรัพย์ การให้เงินดังกล่าวไม่ใช่การให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ได้
    หากมีการหลอกลวงผู้เสียหายว่า สามีของผู้เสียหายไปติดพันหญิงที่มีสามีแล้ว และสามีของหญิงเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งทางราชการกำลังสืบหาที่อยู่ของหญิงนั้นเพื่อยึดทรัพย์ และผู้เสียหายก็ต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายถูกยึดทรัพย์ ให้นำเงิน 305,000บาทมาให้ตน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้มอบเงินดังกล่าวให้ผู้หลอกลวงไป ดังนี้เห็นว่าผู้เสียหายและสามีไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว การมอบเงินให้ผู้หลอกลวงไปนั้นจึงไม่เป็นการให้สินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวงฐานฉ้อโกงได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2550

4. ไม่แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาทราบ


    การที่กฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบว่า “มีสิทธิให้ทนายความเข้าฟังการสอบสวนได้” แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าว ก็เป็นเพียงทำให้ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่านั้น โดยไม่ทำให้การสอบสวนคดีไม่ชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2550

5. ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน มีความจำคุก 4 เดือน


    หน้าห้องพักของผู้เสียหายมีการกั้นผนังด้วยอิฐบล็อกและมีช่องประตูทางเข้ากั้นไว้เป็นสัดส่วนเป็นพื้นที่ใช้สอยของผู้เสียหาย บุคคลอื่นไม่สามารถจะเข้าไปใช้สอยได้ ถือได้ว่าเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย การที่จำเลยกับพวกเข้าไปรุมชกต่อยเตะผู้เสียหายที่บริเวณหน้าห้องพักของผู้เสียหาย ถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้วเป็นจำคุก 20 เดือน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2550

6. ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุ


    ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุ บุกรุกที่ดินของรัฐ ความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง บุกรุกที่ราชพัสดุเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายที่ดิน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นความผิดอันมิใช่โทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่จำต้องฟ้องขับไล่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2550

7. ความผิดฐานพรากเด็กผู้เยาว์อายุยังไม่เกิน 15 ปี มารดาเด็กรู้เห็นเป็นใจ


    ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงอายุ 14 ปีเศษ การที่จำเลยมารับเด็กหญิงไปรับประทานอาหาร มารดาของเด็กหญิงก็รับรู้ และทราบว่าบุตรสาวของตนค้างคืนกับจำเลยที่บ้านจำเลย พฤติการณ์แสดงว่ามารดาของเด็กหญิงรู้เห็นยินยอม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ แต่จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี แม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5547/2550

8. พรากผู้เยาว์ กระทำชำเราเด็กหญิงไม่เกิน 15 ปี


    การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ก็เป็นความผิดแล้ว แม้เด็กจะยินยอมก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กนั้นมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย โดยมีผลถึงการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยก็หาไม่ ดังนั้นผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทนเด็กได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550

9. รับของโจร รับซื้อไว้โดยสุจริต


    โจทก์ไม่ได้ประสงค์จะให้ลงโทษฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำเลยนำสืบว่ารับซื้อทรัพย์ของกลางโดยสุจริต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี รับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษจำคุก 2 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 192 วรรคสี่ คำพิพากษาฎีกาที่ 528/2550

10. ผู้ใหญ่บ้านถูกจับยาบ้า มีโทษจำคุก 3 เท่า ไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย


      ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง เมื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงต้องระวางโทษเป็น 3 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2554

Visitors: 109,910