ความรู้เรื่องกฎหมายคดีผู้บริโภค กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา

          ลักษณะของคดีผู้บริโภค จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
กลุ่มแรก คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ (มาตรา 3 (1))
องค์ประกอบที่จะทำให้คดีใดเป็นคดีผู้บริโภคตามอนุมาตรานี้มีด้วยกัน 3 ประการ กล่าวคือ

1. ต้องเป็นคดีแพ่งที่พิพาทระหว่าง ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่นฝ่ายหนึ่ง กับ ผู้ประกอบธุรกิจอีกฝ่ายหนึ่ง

ผู้บริโภค” ได้แก่
(ก) ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ
(ข) ผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
(ค) ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
บุคคลที่จะเป็นผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะต้องได้ใช้สินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ เช่น บุคคลในครอบครัวหรือพนักงานในองค์กรต่างๆที่หัวหน้าครอบครัวหรือนายจ้างเป็นผู้ซื้อหรือจัดหาสินค้าหรือบริการมาให้ใช้ แม้จะไม่ได้เสียค่าตอบแทนด้วยตนเองก็ถือว่าเป็นผู้บริโภคเช่นกัน แต่ถ้าเป็นการนำสินค้าไปใช้หรือได้รับบริการโดยไม่ชอบเช่น ลักขโมยไปใช้ย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้บริโภคตามข้อนี้

ผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น
(ก) คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ 2 กรณี คือ คดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรและคดีที่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิร้องขอซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม
(ข) สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และ 41 ซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายถึงบุคคลดังต่อไปนี้
(ก) ผู้ขาย ให้หมายความรวมถึง ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ หรือผู้จัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นตลอดจนผู้เสนอหรือชักชวนเพี่อการดังกล่าวด้วย
(ข) ผู้ผลิตเพื่อขาย ให้หมายความรวมถึง ผู้ทำ ผสม ปรุง ประกอบ ประดิษฐ์ หรือ แปรสภาพ และหมายความรวมถึงผู้ทำการเปลี่ยนรูป ดัดแปลง คัดเลือก หรือแบ่งบรรจุ เพื่อขาย
(ค) ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
(ง) ผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า
(จ) ผู้ให้บริการ ให้หมายความรวมถึง ผู้รับจัดทำการงาน ผู้ให้สิทธิใดๆหรือให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่นแต่ไม่รวมถึงผู้รับจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน
(ฉ) ผู้ประกอบกิจการโฆษณา หมายถึง ผู้ประกอบกิจการซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะกระทำการ ไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
2. ต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย
ต้องเป็นเรื่องที่กฎหมายรับรอง ดังนั้น มูลคดีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นอาจเป็นเรื่องสัญญา ละเมิด หรือกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดให้สิทธิไว้แล้วมีการละเมิดสิทธินั้น เช่น พระราชบัญญัติขายตรงและ
ตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 33
3. ต้องเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
องค์ประกอบสุดท้ายนี้เป็นการตีกรอบเพื่อมิให้มีการนำวิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้ไปใช้กับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าหรือบริการโดยตรงซึ่งอยู่นอกเหนือเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น คดีหมิ่นประมาทระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค เป็นต้น ส่วนถ้อยคำที่ว่า “อันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ” อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าจะต้องมีการใช้สินค้าหรือบริการแล้วเท่านั้นจึงจะเป็นคดีผู้บริโภคซึ่งไม่ถูกต้อง ลำพังแต่ผู้บริโภคตกลงซื้อสินค้าหรือบริการเพื่อนำมาบริโภคแม้จะยังไม่ได้ใช้หากเกิดข้อพิพาทขึ้น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าไม่ครบถ้วน ก็ต้องถือว่าข้อพิพาทนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการและเป็นคดีผู้บริโภคเช่นกัน

ตัวอย่างคดีผู้บริโภค
คดีผู้บริโภคตามมาตรา 3 (1) นี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นกรณีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นจำเลยเท่านั้น คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลยหากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ เช่น คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องบังคับให้ผู้บริโภคชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายหรือให้บริการต่างๆย่อมถือว่าเป็นคดีผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ดังนั้น คดีผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะมีปริมาณมากกว่ากลุ่มอื่น และแนวทางในการพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคตามอนุมาตรานี้ เบื้องต้นให้พิจารณาสถานะของคู่ความก่อนว่า เป็นผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคฝ่ายหนึ่ง กับผู้ประกอบธุรกิจอีกฝ่ายหนึ่ง และข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากการบริโภคหรือบริการหรือไม่ ถ้าใช่ถือว่าคดีนั้นเป็นคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นมูลหนี้เกี่ยวกับเรื่องใด ตัวอย่างต่อไปนี้จัดว่าเป็นคดีผู้บริโภค
(1) คดีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งเป็นคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ส่วนใหญ่จะเป็นคดีผู้บริโภค เว้นแต่ข้อพิพาทนั้นไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการบริโภคสินค้าหรือบริการหรือการคุ้มครองดูแลสิทธิของผู้บริโภค
(2) คดีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องเอง มูลคดีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องผิดสัญญาและจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจมักจะเป็นนิติบุคคล เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (ไม่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ไม่โอนกรรมสิทธิ์ ไม่จัดทำสาธารณูปโภค ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง) สัญญาซื้อขายหรือเช่าซื้อรถยนต์ (ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ไม่โอนชื่อทางทะเบียนหรือทะเบียนปลอม ยึดรถยนต์กลับไปโดยมิชอบ) หรือสัญญาให้บริการการท่องเที่ยวเป็นต้น และบางกรณีอาจเป็นเรื่องละเมิด เช่น คดีเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุข เป็นต้น
(3) คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องบังคับให้ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าชำระหนี้ตามสัญญาต่างๆจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภคด้วย เช่น
     - คดีที่ธนาคารพาณิชย์ฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญายืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ บัญชีเดินสะพัด ตั๋วเงินหรือทรัสต์รีซีท เป็นต้น
     - คดีที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาให้บริการต่างๆ เช่น โทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต เป็นต้น
     - คดีที่ผู้ประกอบกิจการสาธารณูปโภคฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาให้บริการสาธารณูปโภคเช่นไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
     - คดีที่ผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อสินค้าฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ
     - คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตหรือให้บริการสินเชื่อรูปแบบอื่นฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตหรือสัญญาให้บริการสินเชื่อ
(4) คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยพิพาทกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์เกี่ยวกับสัญญาประกันภัยถือว่าเป็นคดีผู้บริโภค แต่ถ้าเป็นคดีพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยด้วยกันเองหรือระหว่างผู้รับประกันภัยที่รับช่วงสิทธิมาฟ้องผู้ทำละเมิดหรือระหว่างผู้ถูกทำละเมิดกับผู้รับประกันภัยค้ำจุน ไม่น่าจะเป็นคดีผู้บริโภคเพราะคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิใช่ผู้บริโภค (เว้นแต่จะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีผู้บริโภคตามมาตรา 3 (1) หรือ 3 (2))

กลุ่มที่สอง คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยมาตรา 3 (2)
คดีผู้บริโภคตามอนุมาตรานี้ใช้ข้อหาหรือกฎหมายที่พิพาทกันเป็นตัวชี้วัด กล่าวคือ ถ้าเป็นข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ต้องถือว่าคดีนั้นเป็นคดีผู้บริโภค โดยผู้ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีคือผู้ได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจเป็นผู้บริโภค บุคคลในครอบครัว หรือพนักงานของผู้บริโภค หรือบุคคลอื่นที่บังเอิญได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้านั้น ส่วนผู้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยคือผู้ประกอบการซึ่งอาจเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้าหรือบุคคลอื่นตามคำนิยามคำว่า “ผู้ประกอบการ” ในกฎหมายดังกล่าว

กลุ่มที่สาม คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตามมาตรา 3 (1) หรือ (2) เช่น คดีที่ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง สัญญาจำนำ หรือสัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นต้น ซึ่งโดยปกติคดีเหล่านี้อาจไม่อยู่ในความหมายของคดีผู้บริโภคตามมาตรา 3 (1) หรือ (2) แต่ตามมาตรา 3 (3) ให้ถือว่าเป็นคดีผู้บริโภคด้วยเพื่อมิให้ผลแห่งคดีเกิดความลักลั่นกันและไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการพิจารณาคดีดังกล่าวรวมหรือแยกกับคดีผู้บริโภคตามมาตรา 3 (1) หรือ (2)

กลุ่มที่สี่ คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้ (คดีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 (1) หรือ (2) และให้ถือว่าคดีเหล่านั้นเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย)

 

Visitors: 81,538