ทนายความคดีตั้งผู้จัดการมรดก

การขอตั้งผู้จัดการมรดก
       ขณะที่บุคคลมีชีวิตอยู่นั้น อาจมีทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เมื่อบุคคลเหล่านั้นถึงแก่ความตาย ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดดังกล่าวของผู้ตายดังกล่าว หากไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็จะเป็น "มรดก" หลังจากเข้ามรดกถึงแก่ความตาย อาจมีปัญหาข้อขัดข้องในการจัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

 ความหมายของมรดก 

        มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตายรวมทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รถยนต์ ห้องชุด สิทธิการเช่าซื้อ ทรัพย์สินต่างๆ เงินฝากในธนาคาร ส่วนเงินบำเหน็จบำนาญ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินประกันชีวิตของผู้ตายไม่เป็นมรดก

 ความหมายของผู้จัดการมรดก 

        ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เพื่อทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่ง มรดกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย

 เหตุที่ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก 

       1. เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมสูญหายหรืออยู่ต่างประเทศ หรือเป็นผู้เยาว์
       2. เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทโดยธรรม ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจจัดการมรดก หรือมีเหตุขัดข้องในการ จัดการมรดกหรือแบ่งมรดก
       3. เมื่อข้อกำหนดตามพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไม่มีผลบังคับ

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
        ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและ มีหน้าที่รวบรวมมรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหน ี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและทำรายการ แสดงบัญชีการจัดการและแบ่ง มรดก โดยต้องจัดการไปในทาง ที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็น ปรปักษ์ต่อมรดกไม่ได้
หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่ แบ่งมรดกให้ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ ศาลมีคำสั่ง ถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่าง อื่นที่สมควรก็ได้

 ผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก มี 3 ประเภท ดังนี้

       1. ทายาทโดยธรรม ตามกฎหมายได้แบ่งทายาทโดยธรรมไว้ 6 ลำดับ ได้แก่ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา รวมทั้งคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็คือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย และมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ แต่ทายาทที่ลำดับชั้นที่สนิทกับเจ้ามรดกมากที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เช่น หากผู้ตายมีบุตร ทายาทชั้นปู่ ย่า ตา ยาย ก็ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก เป็นต้น
       2. ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกองมรดกของผู้ตาย เช่น ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่มีทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย เป็นต้น
       3. พนักงานอัยการ ซึ่งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลแทนตนเองได้

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

       ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ต้องบรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือไม่เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
       การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกให้ยื่นต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย หากผู้ตายไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ซึ่งศาลที่สามารถยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ มีดังนี้
       - กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดตลิ่งชัน และศาลจังหวัดพระโขนง
       - ต่างจังหวัด ได้แก่ ศาลจังหวัด

 เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ประกอบในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ได้แก่

       1. หลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่น สูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน ใบสำคัญการสมรส
       2. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ร้องและผู้ให้ความยินยอมจัดการมรดกทุกคน
       3. ใบมรณบัตรของผู้ตาย (ใบมรณบัตรของบิดามารดาของผู้ตาย (เจ้ามรดก) กรณีถึงแก่ความตาย หากไม่มีก็ต้องให้ทางอำเภอออกหนังสือรับรองการตายให้)
       4. ทะเบียนสมรสของผู้ตาย หรือทะเบียนหย่าของผู้ตาย
       5. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายหรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ (ที่มีตัวหนังสือประทับคำว่า “ตาย”)
       6. สูตรบัตรของบุตรผู้ตาย (กรณีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้)
       7. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เรือ อาวุธปืน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล ใบหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
       8. พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
       9. หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุลของเจ้ามรดก ผู้ร้องและทายาท (ถ้ามี)
      10. บัญชีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก
      11. หนังสือให้ความยินยอมของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก


       สำหรับการยื่นคำร้องนั้น สามารถดำเนินการได้หลายช่องทาง เช่น ติดต่อทนายความ หรือพนักงานอัยการ เขียนคำร้องและยื่นคำร้องต่อศาล หรือยื่นคำร้องด้วยตนเอง ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้
       1. ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกพร้อมสำเนาเอกสารประกอบคำร้อง บัญชีระบุพยาน จำนวน 2 ชุด ต่อเจ้าหน้าที่งานรับฟ้อง
       2. ชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 200 บาท ค่าประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งการขอตั้งผู้จัดการมรดก จำนวน 500 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่งานรับฟ้องจะกำหนดวันนัดไต่สวนให้ผู้ร้องทราบ ซึ่งโดยปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วัน เพื่อให้ประกาศมีผลบังคับตามกฎหมาย
       3. เมื่อถึงวันนัดไต่สวน ผู้ร้องต้องนำพยานที่ระบุไว้ในบัญชีพยานเข้าไต่สวนต่อศาล 

 

1. การร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดก


    การขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกตกเป็นของทายาททันที และยังรวมถึงหนี้สินด้วย ความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว แม้ว่า กองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม ซึ่งอาจจะมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถาม หนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ ลูกหนี้เจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ ธนาคารไม่ยอมให้เบิกเงินของผู้ตาย โดยต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง

2. ขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก


    การยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสีย แม้ว่าคำร้องใหม่นี้จะมีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เสียเช่นนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2552

3. เหตุอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก


    กฎหมายระบุเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ ก็ต่อเมื่อผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอื่นที่สมควร การที่ทายาทร้องขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกเพราะรายการทรัพย์สินของเจ้ามรดกตามคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นของทายาท(ผู้คัดค้าน)ไม่ได้เป็นของเจ้ามรดก ซึ่งเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่จะอ้างเพื่อขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ ส่วนทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นทรัพย์ของเจ้ามรดกหรือไม่ หรือเป็นของผู้ใดก็ต้องไปว่ากล่าวกันอีกต่างหากในคดีอื่น

4. หน้าที่ผู้จัดการมรดก ไม่แบ่งมรดก การสละมรดก


    ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้

5. อำนาจผู้จัดการมรดกขายเพื่อใช้หนี้กองมรดก


    อำนาจของผู้จัดการมรดกในการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อใช้หนี้กองมรดก ผู้ซื้ออยู่ในฐานะที่จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แม้ยังไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขาย การทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินให้โดยไม่มีค่าตอบแทนอันเป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ซื้อและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้ผู้ซื้อที่ดินได้รับความเสียหายขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน

Visitors: 102,157