บริการนิติกรรมสัญญา

     

 เชิญปรึกษาด้านนิติกรรมสัญญา โดยทนายยิ้ม                          ขอคำแนะนำ ร่าง/ตรวจนิติกรรมสัญญาทุกประเภท            ติดต่อ 083-144-8765

    นิติกรรม หมายความว่า "การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ" 

 

1. องค์ประกอบของนิติกรรม 

จากคำนิยามของนิติกรรมดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นองค์ประกอบของนิติกรรมดังนี้
1.1 ต้องมีการแสดงเจตนา หมายถึง มีการคิดและตัดสินใจที่จะกระทำโดยการแสดง ออกทางกริยาท่าทาง ทางวาจาหรือทางลายลักษณ์อักษร ลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง ดังนั้น เพียงการคิดโดยมิได้แสดงออกหรือนิ่งเฉยย่อมไม่ถือเป็นการแสดงเจตนา ด้วยเหตุว่ากฎหมายมิอาจเข้าไปล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายในได้ 
1.2 ต้องกระทำด้วยความสมัครใจ หมายถึง การกระทำที่จะผูกพันบังคับกันได้ต้องเกิดจากการตัดสินใจที่จะกระทำด้วยตนเองมิใช่ถูกบังคับให้ทำ กรณีนิติกรรมเกิดจากการข่มขู่ กลฉ้อฉล หรือความสำคัญผิด ไม่ใช่ว่านิติกรรมนั้นไม่เกิด แต่ถือว่านิติกรรมนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่การแสดงเจตนานั้นไม่บริสุทธิ์ จึงทำให้นิติกรรมเสื่อมเสียไปหรือไม่สมบูรณ์ 
1.3 ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง การกระทำที่จะผูกพันบังคับได้ตามกฎหมายนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม มิฉะนั้นนิติกรรมที่มีเจตนาทำขึ้นย่อมไม่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย เพราะเป็นนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
1.4 ต้องการก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย หมายถึง มุ่งที่จะผูกนิติสัมพันธ์ การกระทำที่ไม่จริงจังหรือล้อเล่นย่อมไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมายแต่อย่างใด นอกจากนี้ นิติกรรมต้องเป็นผลผูกพันระหว่างบุคคล หมายถึง ต้องก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นความผูกพันระหว่างบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ฉะนั้น สัตว์หรือสิ่งของย่อมไม่สามารถทำนิติกรรมได้
1.5 ต้องก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของสิทธิ การเคลื่อนไหวของสิทธิตามกฎหมายมี 5 ประการ
      ก. ก่อสิทธิ คือ การทำให้สิทธิเกิดขึ้น เช่น สัญญาซื้อขายย่อมทำให้ผู้ซื้อเกิดสิทธิที่จะได้สินค้า และขณะเดียวกันผู้ขายย่อมเกิดสิทธิที่จะได้รับชำระค่าสินค้านั้น
      ข. เปลี่ยนแปลงสิทธิ คือ การทำให้สิทธิที่มีอยู่แล้วเปลี่ยนแปลงไป เช่น สัญญาซื้อขายซึ่งทำให้เกิดสิทธินั้น ผู้ซื้อขอเปลี่ยนแปลงการชำระราคาสินค้าจากเงินสดเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น ทองคำ สิทธิของผู้ขายที่จะได้รับเงินสดได้เปลี่ยนแปลงเป็นทองคำแทน
      ค. โอนสิทธิ คือ การมอบสิทธิของตนที่มีอยู่แล้วให้กับบุคคลอื่น เช่น ผู้ขายซึ่งมีสิทธิได้รับชำระราคาสินค้าตามสัญญาซื้อขาย ไม่ยอมรับราคาสินค้าตามสิทธิที่ตนเองมีอยู่ แต่กลับโอนสิทธิไปให้เจ้าหนี้ที่ตนไปกู้ยืมมา โดยทำตามขั้นตอนและวิธีการตามกฎหมาย เช่นนี้ทำให้สิทธิของผู้ขายโอนไปยังเจ้าหนี้ของผู้ขายแทน
      ง. สงวนสิทธิ คือ การทำให้สิทธิที่มีอยู่แล้วมีความมั่นคงมากขึ้นไม่เสียไป เช่น การทำหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งลูกหนี้ทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบให้กับเจ้าหนี้ของตนว่าตนได้กู้ยืมไปจำนวนเท่าใด เพื่อยืนยันในสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้แน่นอน สิทธิของเจ้าหนี้ไม่เสียไป หรือการปิดป้ายที่มีข้อความว่า “ถนนส่วนบุคคล” ปักไว้ที่ถนนนั้น เป็นการแสดงถึงสิทธิของเจ้าของที่ดินที่มีเหนือถนนนั้น เจ้าของที่ดินสามารถห้ามมิให้ผู้ใดใช้ถนนนั้นได้ เป็นต้น
      จ. ระงับสิทธิ คือ การทำให้สิทธิของตนที่มีอยู่แล้วสิ้นสุดลง เช่น การบอกเลิกสัญญา ผู้ขายได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อ การปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ เหล่านี้ย่อมทำให้สิทธิเดิมที่มีอยู่แล้วสิ้นสุดลง

 

2. ประเภทของนิติกรรม
    นิติกรรมแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
    1. นิติกรรมฝ่ายเดียวและนิติกรรมหลายฝ่าย
        ก. นิติกรรมฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาและกระทำไปโดยบุคคลเพียงฝ่ายเดียว การกระทำนั้นก็มีผลเป็นนิติกรรมได้ เช่น การทำพินัยกรรม การบอกเลิกสัญญา การปลดหนี้ การตั้งมูลนิธิ เป็นต้น
        ข. นิติกรรมหลายฝ่าย เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาและการกระทำโดยบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปเข้ามาเกี่ยวข้องจึงจะเกิดเป็นนิติกรรมได้ เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง สัญญากู้ยืมเงิน การหมั้น การสมรส เป็นต้น
    2. นิติกรรมที่ต้องทำตามแบบและนิติกรรมที่ไม่ต้องทำตามแบบ
        ก. นิติกรรมที่ต้องทำตามแบบ เป็นนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดแบบหรือวิธีการในการทำ
นิติกรรมนั้นเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะไม่เกิดผลทางกฎหมายและตกเป็นโมฆะ เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สัญญาจำนอง การทำพินัยกรรม การสมรส เป็นต้น
        ข. นิติกรรมที่ไม่ต้องทำตามแบบ เป็นนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ด้วยการแสดงเจตนาเท่านั้นและจะมีผลใช้บังคับทันทีที่มีการทำนิติกรรมกัน เช่น สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ สัญญาจ้างแรงงาน เป็นต้น
    3. นิติกรรมมีค่าตอบแทนและนิติกรรมไม่มีค่าตอบแทน
        ก. นิติกรรมมีค่าตอบแทน เป็นนิติกรรมที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายทำขึ้นแล้วก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ที่เป็นค่าตอบแทนนั้นอาจเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน
อื่นใด หรือการชำระหนี้ก็ได้ เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาเช่าซื้อ สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างทำของ สัญญาให้ที่มีค่าภาระผูกพัน เป็นต้น
        ข. นิติกรรมไม่มีค่าตอบแทน เป็นนิติกรรมที่ให้เปล่าโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือนิติกรรมที่ก่อหนี้หรือหน้าที่ให้แก่คู่สัญญาเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ได้ก่อหนี้หรือหน้าที่ให้แก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เช่น สัญญาให้โดยเสน่หา สัญญายืมใช้คงรูป เป็นต้น
     4. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลาและนิติกรรมที่ไม่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลา
         ก. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลา เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นแล้วจะมีผลหรือสิ้นผลไปเมื่อเป็นไป ตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่กำหนด เช่น ตกลงจะขายรถยนต์ต่อเมื่อผู้ขายจะเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อผู้ขายจะเดินทางไปต่างประเทศเมื่อใด ถือว่าเงื่อนไขที่ตกลงซื้อขายรถกันมีผลสำเร็จแล้ว ผู้ขายต้องขายรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อตามที่ตกลงไว้ เป็นต้น
         ข. นิติกรรมที่ไม่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลา เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นแล้วจะมีผลใช้บังคับทันทีที่
ตกลงทำนิติกรรมกัน โดยไม่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลากำหนดไว้ในนิติกรรมนั้น เช่น คู่สัญญาตกลงซื้อรถยนต์กันโดยไม่มีกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาใดๆ ไว้ สัญญาซื้อขายนั้นมีผลผูกพันผู้ขายและ
ผู้ซื้อทันทีที่มีการตกลงซื้อขายรถกัน เป็นต้น
     5. นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ และนิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว
         ก. นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ เป็นนิติกรรมที่ผู้ทำแสดงเจตนาประสงค์ให้เกิดผลระหว่างที่ผู้ทำนิติกรรมยังมีชีวิตอยู่ เช่น สัญญาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ทำสัญญานั้นมีชีวิตอยู่ และมีผลใช้บังคับในขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น
         ข. นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทำมีชีวิตอยู่ แต่จะมีผลบังคับเมื่อผู้ทำตายไปแล้ว เช่น การทำพินัยกรรม การทำสัญญาประกันชีวิต เป็นต้น

 

Visitors: 81,200